ทางเลือก-ทางรอด เทคนิคปฏิบัติการเลี้ยงกุ้ง “ครึ่งหลังปี 57” จัดโดย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
สัมมนาวิชาการ ทางเลือก-ทางรอด เทคนิคปฏิบัติการเลี้ยงกุ้ง “ครึ่งหลังปี 57”
จัดโดย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี
วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557
ห้องริมน้ำ โรงแรมวังใต้ จ.สุราษฎร์ธานี
สรุปความคืบหน้าทางวิชาการเกี่ยวกับ EMS
วิทยากร : ศ.ดร.ทิมโมที วิลเลียม เฟลเกล หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรค EMS/AHPND เป็นโรคระบาดเพราะมีการกระจายไปทั่ว สามารถติดกันได้ หากดูตับกุ้งอย่างเดียวว่าตับซีดแล้วตีความว่าเป็น EMS ไม่ได้ ต้องมีการตรวจทางวิทยาศาสตร์ เมื่อตรวจแล้วพบว่าตับเสียหายหนักจนทำให้กุ้งเสียชีวิต ดร.ไลน์เนอร์ ก็ออกมาพูดว่าสาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย แบคทีเรียชนิดนี้มีโครโมรโซม 2 ชนิด เป็นสารพันธุกรรมที่เคลื่อนที่ได้ เรียกว่า Plasmids ทางเราร่วมมือกับประเทศใต้หวัน นำแบคทีเรียชนิดนี้ไปวิเคราะห์ และทำให้ทางเราได้การตรวจ PCR ขึ้นมา แต่ผลการตรวจความแม่นยำได้ประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ เรียกรหัสว่า AP2 ซึ่งตรวจเชื้อได้ แต่บอกไม่ได้ว่ายีนของสารพิษนั้นทำให้เกิดท็อกซินหรือไม่ ใน 97 เปอร์เซ็นต์อาจมี 3 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นตัวอันตราย จาก 97 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แต่หากเป็นผมจะไม่เสี่ยงเอาลูกกุ้งชุดนั้นมาเลี้ยง
จากการอุบัติโรค AHPND ทำให้มีการไพร์เมอร์สำหรับตรวจพีซีอาร์ โดยไพร์เมอร์ AP2 ที่ออกมาก่อนหน้าสามารถตรวจเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค AHPND แต่ไม่ได้ทำให้กุ้งตาย ล่าสุดจาการพัฒนาไพร์เมอร์ AP3 ที่สามารถตรวจเชื้อก่อโรค AHPND และสร้างสารพิษให้เซลล์ตับหลุดลอก เปรียบเทียบคือ AP 2 ตรวจเชื้อแบคทีเรียที่มีพลาสมิดแต่ไม่มียีนส์ที่สามารถสร้างสารพิษ (ปืน : พลาสมิดของเชื้อ) ส่วน AP3 สามารถตรวจเชื้อแบคทีเรียที่มีพลาสมิดของเชื้อ และมียีนที่สร้างสารพิษทำให้เซลล์ตับหลุดลอก (ปืน : พลาสมิดของเชื้อ และลูกปืน : สารพิษที่ทำให้เซลล์ตับหลุดลอก)
ตัวอย่างอาหารสด ทั้งแม่เพรียง หมึก รวมถึงขี้กุ้งของพ่อแม่พันธุ์ที่เก็บตัวย่างร่วมกับกรมประมงและดร.นิติ พบกว่ามีการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค AHPND กว่า 50% การใช้อาหารสดในการผลิตลูกกุ้ง เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ หากจะใช้อาหารสดเหล่านี้ควรผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ ถึงแม้ว่าปริมาณลูกกุ้งที่ผลิตได้จะลดลง แต่คุณภาพลูกกุ้งจะดีขึ้น
เชื้อ Enterocytozoon hepatopenaei เป็นเชื้อโปรโตซัว ไมโครสปอริเดียน ซึ่งพบการปนเปื้อนในกุ้งมาก หากเราสามารถแก้ไขปัญหา AHPND ได้แล้ว เชื้อไมโครสปอริเดียนชนิดนี้จะเป็นตัวสร้างปัญหาต่อจาก AHPND
มีสมมติฐานที่น่าสนใจว่า โรค AHPND มีจุดเริ่มต้นมากจากจีน ประเทศไทยมีการใช้แม่เพรียงนำเข้าจากประเทศจีนในการผลิตลูกกุ้งมายาวนาน มีความเป็นไปได้ที่เชื้อแบคทีเรียก่อโรค AHPND ได้แพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทั่วทุกแห่งของประเทศไทย ด้วยความที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถอาศัยอยู่ในดินและน้ำ จึงยากมากในการป้องกันเมื่อเทียบกับเชื้อไวรัส (เชื้อไวรัสหากไม่มีพาหะ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกได้ไม่นาน) การใช้ระบบปิด(Close bio-secure culture system) ที่สามารถควบคุมปัจจัยทั้งหมดได้ในการเลี้ยงกุ้ง เป็นแนวทางที่น่าจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
==================================================================================================
สรุปความคืบหน้าทางวิชาการเกี่ยวกับ EMS
วิทยากร : ผศ.ดร.นิติ ชูเชิด
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พ่อ-แม่พันธุ์กุ้ง สำคัญยิ่งต่อการผลิตกุ้งในภาวะเสี่ยงวิบริโอ อีเอ็มเอส ยุคปัจจุบันผลวิจัยบอกถึงความสำคัญของคุณสมบัติ และคุณภาพพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งมีเทคนิควิเคราะห์จากผลแลบได้ และพบว่าถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะก่อความสูญเสียต่อเนื่องได้ด้วย จึงไม่ควรนำมาใช้ผลิตลูกกุ้ง
จากการศึกษาจากพ่อแม่พันธุ์ในแฮชเชอรรี่ 10 แห่ง จำนวน 10 คู่
- นำมาชั่งน้ำหนักและวัดความยาว
- ตรวจปรสิต –Microsporidian
- ตรวจสอบปริมาณแบคทีเรีย
- ศึกษาลักษณะพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อ
- ตรวจเชื้อไวรัสWSSV, TSV, YHV, IMNV และ IHHNV
- Enterozytozoon hepatopenaei
จากการศึกษาลักษณะทางพยาธิสภาพของตับและตับอ่อนที่สมบูรณ์ จะมีการสะสมเม็ดไขมันจำนวนมาก ถ้าตับลีบฝ่อ ไขมันน้อยเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่แข็งแรง
***Lymphoid organ spheroid ในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจะส่งผลทำให้ลูกกุ้งมีขนาดแตกต่างกัน มีอัตราการเจริญเติบโตช้า ; จาก วิทยานิพนธ์ ปริญญาเอก คุณศุภกร พัฒนวิวัฒน์ บัณฑิตวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ปี 2549 ได้รับทุนจาก วช ปี 2547
ผลการศึกษาการเกิด EMS จากการนำลูกกุ้งจากโรงเพาะฟักทั้ง 6 โรง ไปตรวจคุณภาพก่อนนำไปเลี้ยง ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่เป็นลูกค้าของแต่ละโรงเพาะฟัก ศึกษาโรงเพาะฟักละ 5 บ่อ รวมทั้งสิ้น 30 บ่อ
พบว่า พ่อแม่พันธุ์กุ้งที่พัฒนาในประเทศซึ่งถูกเลี้ยงในบ่อดินจะพบ Lymphoid organ spheroid มากกว่าพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่นำเข้าซึ่งเลี้ยงในระบบปิด พ่อแม่พันธุ์กุ้งที่พบLymphoid organ spheroid จะอ่อนแอ เมื่อถูกตัดตาจึงมีอัตราการตายสูง ซึ่งพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่พัฒนาในประเทศซึ่งถูกเลี้ยงในบ่อดินจะพบ Lymphoid organ spheroid มากกว่าพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่นำเข้า ซึ่งเลี้ยงในระบบปิด ส่วนพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่พบLymphoid organ spheroid จะอ่อนแอ เมื่อถูกตัดตาจึงมีอัตราการตายสูง
สรุปได้ว่า “คุณภาพลูกกุ้ง มีผลต่อการเกิดโรค EMS ในฟาร์มเลี้ยงโดยเฉพาะช่วงหนึ่งเดือนแรกหลังจากปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง”
- กุ้งที่ตายหลังจากช่วงหนึ่งเดือนแรกส่วนใหญ่ไม่พบการติดเชื้อแบคทีเรียชัดเจน สาเหตุการตายอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงร่วมกับความอ่อนแอของตัวกุ้ง
- การศึกษาครั้งนี้ไม่พบความแตกต่างระหว่างการเกิดโรค อีเอ็มเอส จากสายพันธุ์กุ้งที่พัฒนาในประเทศและสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 1 สายพันธุ์คือ Kona Bay
สรุปปัจจัยคุณภาพน้ำกับการเกิดโรค
- บ่อที่เลี้ยงพบค่าความโปร่งแสงสูงกว่า 45 เซนติเมตรติดต่อกันเป็นเวลานาน ในช่วงแรกจะพบการเกิดโรคเอีเอ็มเอสสูง
- บ่อเลี้ยงที่ให้อาหารสำเร็จรูปในอัตรามากกว่า 2.5 กก./กุ้งแสนตัวในช่วงเดือนแรก พบโอกาสเกิดโรคอีเอ็มเอสสูง
การนำกุ้งป่วยอายุ 40 วันขึ้นไปจากบ่อเลี้ยงที่มีอาการตายคล้ายโรคอีเอ็มเอสมาเลี้ยงในถังที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำเหมาะสม พบว่าสามารถเลี้ยงกุ้งดังกล่าวต่อไปได้ ลักษณะของกุ้งที่นำมาวันแรก จะเห็นได้ว่าตับขาว ลำไส้ขาว อาการเพียบหนักเหมือนคนไข้ ICU นำมาเลี้ยงที่น้ำคุณภาพดี ให้ออกซิเจนเต็มที่ กลับไม่ตายและไซส์เติบโตปกติ แสดงว่าการจัดการที่ดีมีผลสำคัญ
การแก้ปัญหาโรคอีเอ็มเอส
- นำเข้าสายพันธุ์กุ้งให้มีความหลากหลาย หากพัฒนาเองกว่าจะได้ผลช่วยวิกฤตนี้ไม่ทัน นำเข้ามาเลยแล้วทำการศึกษาว่าแข็งแรงหรือไม่ จะได้เลือกซื้อถูก ไม่มีเวลามาลองผิดลองถูกแล้ว การเลือกต้องดูเรื่องกุ้งมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และทนทานต่อโรค
- การพัฒนาคุณภาพอาหารให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของสายพันธุ์กุ้งที่เลี้ยง ต้องเฝ้าระวังหาวิธีการตรวจและป้องกันเชื้อโรคฉวยโอกาสต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนแล้วส่งผลทำให้กุ้งอ่อนแอ
=================================================================================================
ทางเลือก-ทางรอด สำหรับชาวกุ้งไทย
วิทยากร : คุณสมชาย ฤกษ์โภคี
ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฏร์ธานี
“กว่า 2 ปีที่เราได้อาสาเสาะหาเทคนิคใหม่ๆ ควบคู่การทดลองภาคสนาม ถึงปัจจุบันมั่นใจว่า เรามีทางเลือก และเป็นทางรอดของชาวฟาร์มกุ้งไทยด้วยแนวทางการเลี้ยง 2 รูปแบบ 3 ขั้นตอน ด้วยเทคนิคปฏิบัติการจำเพาะก็จะพากุ้งที่เลี้ยงผ่านวิบริโอ/อีเอ็มเอสได้”
แนวทางการเลี้ยงแบ่งได้ 2 แนวทาง
1. การจัดการเลี้ยงแบบชีวภาพน้ำเข้มข้น คือการเลี้ยงระบบเดิม เป็นการแปลงของเสียในบ่อมาใช้ประโยชน์ เช่น ตราดโมเดล การอนุบาลลูกกุ้งของหมอเจี๊ยบ การระเบิดเลนของคุณปิลันธ์
การใช้แนวทางนี้ต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง การปฏิบัติหรือแนวทางย่อมต่างกันบุคคลากรที่ปฏิบัติ ต้องมีความเข้าใจ ชำนาญ มีการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เข้ายึดครองพื้นที่ ข่มเชื้อร้าย
***ข้อดีของระบบนี้ คือ โอกาสเสี่ยงไวรัสตัวแดงดวงขาวน้อยกว่าระบบน้ำโปร่ง แต่การเจริญเติบโตมีข้อจำกัดกว่าการเลี้ยงแบบน้ำโปร่ง เพราะต้องควบคุมปริมาณของเสียในบ่อให้สมดุล
2.การเลี้ยงแบบชีวภาพน้ำโปร่ง เน้นการนำของเสียออกจากบ่อ และลดปริมาณเชื้อในบ่อ การเลี้ยงแนวทางนี้ต้องมีแหล่งน้ำสะอาดนอกฟาร์มเพียงพอ บ่อเก็บน้ำในฟาร์มต้องมากพอ และใช้เฉพาะน้ำผิวบนเท่านั้น ทางน้ำเข้าที่ระยะทางยาว จะช่วยให้น้ำตกตะกอนได้ดี
ระบบนี้เน้นการรวมของเสียกลางบ่อแล้วดูดออกไปบำบัด หรือเก็บไว้ในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนกุ้งจะมีความแข็งแรง กินอาหารได้เต็มที่ โตเร็ว เพราะมีการถ่ายน้ำนำของเสียออก คุณภาพน้ำดีตลอดเวลา เดินโปรแกรมอาหารได้เต็มที่ ฟาร์มขนาดใหญ่สามารถบริหารจัดการเป็นระบบได้ โครงสร้างแพลงก์ตอนในบ่อเปลี่ยนแปลงน้อย ทำให้แพลงก์ตอนใช้ออกซิเจนน้อยลง กระบวนการบำบัดของเสียในบ่อโดยออกซิเจนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเติมจุลินทรีย์ชนิดดีเพื่อครองพื้นที่ในบ่อข่มเชื้อก่อโรค
การเลี้ยงในระบบนี้ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเข้มงวด เพราะมีความเสี่ยงจากการนำน้ำจากภายนอกเข้าฟาร์ม ทั้งไวรัสตัวแดงดวงขาว และหัวเหลือง
การเลี้ยงกุ้งที่มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ใช้การเลี้ยงแบบน้ำโปร่ง โดยเลี้ยงในกรีนเฮ้าส์ ที่ใช้ระบบโรงเพาะฟักมาประยุกต์ ก่อนให้อาหารมีการถ่ายน้ำเพื่อลดของเสีย
=================================================================================================
เสวนา 2 ทางเลือก พากุ้งไทย “ผ่านวิบริโอ : EMS ครึ่งหลังปี 57”
วิทยากร : คุณขวัญใจ พัฒน์ทอง ไชโยฟาร์ม จ.ประจวบคีริขันธ์
คุณเรวัฒน์ วริษฐวานิชกุล ตะวันฟาร์ม จ.ชุมพร
น.สพ. สุรศักดิ์ ดิลกเกียรติ
คุณวิทยา เอี่ยมนนท์ ทวีเจริญฟาร์ม
แนวทางการเลี้ยงของฟาร์มจะเน้นในการบำบัดพื้นบ่อเป็นหลัก ร่วมกับการใช้จุลินทรีย์ โดยที่ฟาร์มได้นำแนวทางการเลี้ยงหลายแนวทางมาประยุกต์ เช่น ตราดโมเดล การอนุบาลลูกกุ้งในบ่อ และระบบเซมิฟล็อค ซึ่งหัวใจสำคัญในทุกแนวทางมีเหมือนกันคือความสมดุลของวัฏจักรไนโตรเจน สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำในรอบวัน ต้องมีการวัดค่าคุณภาพน้ำเป็นประจำ ร่วมกับการจัดการในบ่อที่ดี การใช้จุลินทรีย์ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง นั่นคือการบำบัดพื้นบ่อให้สะอาดในระดับหนึ่งก่อน จุลินทรีย์ไม่สามารถช่วยบำบัดได้หากมีของเสียสะสมมาก ส่วนของการหมักจุลินทรีย์ก็มีแนวทางแตกต่างกัน ความเค็มน้ำของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นสูตรที่เหมาะสมในการหมักจุลินทรีย์แต่ละฟาร์มก็ไม่เหมือนกัน ลูกกุ้งมีความสำคัญ หากคุณภาพไม่ดีจริง ต่อให้ฟาร์มมีความพร้อมก็ผ่านยาก
สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ แบ่งออกได้หลักๆ เป็น 2 ประเภท
- Autotroph สร้างอาหารเองได้โดยใช้พลังงานจากแสงและปฏิกิริยาทางเคมี เป็นหลัก ได้แก่ พวกพืช
- Heterotroph อาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นและแร่ธาตุในธรรมชาติเป็นอาหารและแหล่งพลังงานหลักจากปฏิกิริยาเคมี ได้แก่ พวกสัตว์ เรากำลังปรับเปลี่ยนการเลี้ยงเข้าสู่ Heterotroph
ธาตุเคมีพื้นฐานเพื่อเข้าใจระบบ
- ธาตุหลัก ที่สำคัญได้แก่ C N O และ H – ในพืชมี C เป็นหลัก N เป็นตัวช่วย
- ในสัตว์มี N เป็นหลัก C เป็นตัวช่วย – O ช่วยในการสันดาป
- H เป็นแหล่งพลังงาน
การศึกษาแนวทางการเลี้ยง แบบ “ชีวภาพ” จึงเริ่มต้นขึ้น
*จุดเด่นของระบบ *จุดด้อยของระบบ
- ไม่ต้องฆ่าเชื้อ – เปลืองพลังงาน
- ระบบนิ่งด้วยตัวเอง – เปลืองวัสดุชีวภาพ (จุลินทรีย์ + อาหารจุลินทรีย์)
- โอกาสเกิดโรคน้อย – การเปลี่ยนแปลงในระบบทำได้ช้า
- ลดการใช้เคมีสังเคราะห์
- เลี้ยงได้แน่นพอสมควร
แนวทางหรือโมเดลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาล้วนมีประโยชน์ต่อแนวทางการเลี้ยงของเกษตรกร แต่ส่วนใหญ่จะนำไปปฏิบัติไม่ได้ผล เนื่องจากเกษตรกรยังไม่มีข้อมูล หรือความเข้าใจในเชิงลึกของแต่ละแนวทางได้อย่างถ่องแท้
เรวัตร วริษฐวานิชกุล ตะวันฟาร์ม
ฟาร์มปรับสัดส่วนการเลี้ยงเป็นส่วนบ่อพักน้ำ 60% บ่อเลี้ยง 40%
การเตรียมน้ำของฟาร์ม จะมีบ่อพักน้ำ 3 สเต็ป บ่อแรกสูบน้ำเข้าให้ตกตะกอนแล้วใส่ด่างทับทิม ดูดเอาน้ำเฉพาะผิวบนเข้าบ่อที่ 2 ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน ดูดน้ำเฉพาะผิวบนเข้าบ่อชง ทำการปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะสมตามต้องการ แล้วปล่อยเข้าบ่อเลี้ยง ฟาร์มแนวทางเลี้ยงน้ำโปร่งด้วยจุลินทรีย์ โดยใช้เวลาเตรียมบ่อ 5 วันก็ปล่อยลูกกุ้งขนาดพี 25
ในช่วงระหว่างการเลี้ยงทำการดูดเลนและเปลี่ยนถ่ายน้ำออกจากบ่อทุกวัน วันละประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วเติมน้ำใหม่จากบ่อชงที่ปรับคุณภาพแล้วเข้าไปแทนที่ ของเสียต่างๆ ในบ่อ รวมถึงซากกุ้งที่ตายจะมารวมกันอยู่ที่แนวเลนกลางบ่อก็จะถูกนำออกจากบ่อ ของเสียและตะกอนเลนที่ดูดออกจะมีบ่อเก็บไว้ ไม่ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ทางฟาร์มจะเติมออกซิเจนในระดับไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัม/ลิตร ตลอดเวลา อุปกรณ์ให้อากาศนอกเหนือจากเครื่องตีน้ำจะใช้ท่อยางเจาะรูต่อกับริงโบล์วเวอร์ตามจุดอับต่างๆ ของบ่อ เพื่อให้อากาศกระจายอย่างทั่วถึง ใช้จุลินทรีย์เป็นตัวคุมค่าพีเอช
ปัจจุบันฟาร์มมีอัตราการปล่อยอยู่ที่ 250,000 ตัว/ไร่ ที่ปล่อยหนาแน่นเพราะพื้นที่การเลี้ยงถูกปรับไปเป็นบ่อพักน้ำ การเลี้ยงแนวทางนี้บ่อพักน้ำที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างมาก
==============================================================================================
ประมวลภาพสัมมนาวิชาการ ทางเลือก-ทางรอด เทคนิคปฏิบัติการเลี้ยงกุ้ง
“ครึ่งหลังปี 57”
จัดโดย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557
ณ ห้องริมน้ำ โรงแรมวังใต้ จ.สุราษฎร์ธานี
ที่มา : AQUA BIZ สรุป สัมมนาวิชาการ ทางเลือก-ทางรอด เทคนิคปฏิบัติการเลี้ยงกุ้ง “ครึ่งหลังปี 57” จัดโดย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ณ ห้องริมน้ำ โรงแรมวังใต้
จ.สุราษฎร์ธานี