การเขียนบทความวิจัยนำเสนอในวารสารระดับชาติและนระดับนานาชาติ
การเขียนบทความวิจัยนำเสนอในวารสารระดับชาติและนานาชาติ
นักวิจัยในปัจจุบันนี้นอกจากจะมีความรู้ความสามารถที่จะทํางานวิจัยที่มีความถูกต้องเหมาะสมทั้งในระเบียบวิธีวิจัย การวิเคราะห์ผลและการนําเสนอผล ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการ หรือนําไปประยุกต์ได้แล้ว ยังต้องมีความรู้ความสามารถในการเขียนบทความวิจัย เพื่อให้งานวิจัยของตนได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่อีกด้วย ดังนั้น จึงมีความจําเป็นที่นักวิจัยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเขียนบทความวิจัยและการตีพิมพ์ซึ่งถ้าเป็นผลงานที่จะถืออยู่ในเกณฑ์ดีเด่นจะต้องมีข้อกําหนดด้านคุณภาพด้านการเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในระดับชาติและ/หรือนานาชาติซึ่งการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับวงวิชาการ
ที่ผ่านมาดิฉันอาจารย์เบญจมาศ ณ ทองแก้ว ได้เสนอบทความงานวิจัยเรื่องขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) การท่องเที่ยวโดยชุมชนของเกาะพิทักษ์ จังหวัดชุมพร ระยะที่ 2 (Carrying Capacity for Community Based Tourism Tourism at Koh Phithak, Chumphon province Phases II) ในวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based Development Research Journal) ปีที่ 6 ฉบับที่4 มีนาคม- เมษายน 2557 ซึ่งเป็นวารสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพของ TCI สาขามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อใช้ขอตำแหน่งวิชาการ โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเขียนบทความวิจัยคือตรงตามหลักเกณฑ์การนำเสนอบทความวิจัยของวารสารนั้น ๆ เช่น วารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ รับบทความวิจัยจากผู้สนใจเพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเนื้อหาของบทความต้องเป็นบทความวิจัยที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน มีกระบวนการที่นำไปสู่การสร้างความรู้ และมีข้ออธิบายได้ชัดเจน และมีการนำไปใช้ประโยชน์ หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นต้น
สำหรับประสบการณ์ที่ผู้วิจัยได้ส่งบทความวิจัยในวารสารวิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ จะมีขั้นตอน สรุปได้ดังนี้
- ประสานงานขอรับรายละเอียดการตีพิมพ์บทความวิจัย (หลักเกณฑ์ ระยะเวลาการตีพิมพ์ รูปแบบและแนวการเขียนบทความ)
- สรุปเนื้อหาในบทความวิจัยให้เป็นไปตามรูปแบบและแนวการเขียนบทความ
- ส่งบทความวิจัย และปรับแก้บทความวิจัยตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ
- มีหนังสือรับรองการตีพิมพ์บทความวิจัยจากวารสาร
- ส่งภาพประกอบเพื่อบรรจุในบทความวิจัย
- ส่งต้นฉบับโรงพิมพ์ และจัดส่งวารสารให้แก่สมาชิก
อนึ่ง สำหรับข้อดีของวารสารดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นวารสารที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นหรือชุมชน และได้รับเวลาในการตีพิมพ์ในระยะเวลาค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับวารสารอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกัน(ประมาณ 4 เดือน) รวมถึงได้รับการเอาใจใส่และข้อแนะนำจากเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และดีมาก
สำหรับการเสนอบทความงานวิจัยในระดับนานาชาตินั้น ผู้วิจัยได้เสนอบทความเรื่อง Carrying Capacity for Community-Based Tourism at Koh Phithak, Chumphon Province, Thailand: Phase I ในวารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ (KKUIJ HuSo) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะได้รับการตีพิมพ์ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2557 โดยมีขั้นตอนการส่งบทความวิจัย ดังนี้
- ส่งต้นฉบับตามหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด อนึ่งเนื่องจากเป็นวารสารระดับนานาชาติ ดังนั้นเพื่อให้บทความวิจัยมีความสมบูรณ์มากขึ้น บทความดังกล่าวควรผ่านการตรวจทานด้านภาษาอังกฤษจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาก่อนส่งวารสาร สำหรับมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั้น มีศูนย์ภาษาสำหรับคอยให้คำปรึกษาแก่นักวิจัย
- กองบรรณาธิการจะพิจารณาต้นฉบับ (ประมาณ 1-2 เดือน)
- ส่งผู้ทรงคุณวุฒิภายใน และภายนอกประเมิน (ประมาณ 2 สัปดาห์) ซึ่งปกติจะมี จำนวน 3 ท่าน
- แจ้งเจ้าของผลงานประเมิน /ปรับปรุง (ตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิ)
- ตรวจสอบบทคัดย่อ การพิมพ์เอกสารอ้างอิง
- ส่งต้นฉบับโรงพิมพ์ และจัดส่งวารสารให้แก่สมาชิก