ความรู้เกี่ยวกับสหกิจศึกษา
สหกิจศึกษา ( Cooperative Education ) เป็นระบบการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ งานที่นักศึกษาปฏิบัติจะตรงกับสาขาวิชาของนักศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษานำความรู้ที่ได้รับจากสถานศึกษาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานจริง เป็นการเน้นให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริงเป็นหลัก ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ จากการทำงาน และมีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ
การส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและวิทยาลัย ในโครงการสหกิจศึกษา และพัฒนาอาชีพ เป็นกลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่างวิทยาลัยและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการของสหกิจศึกษาจะเน้นที่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
นักศึกษาสหกิจศึกษาจะเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการในลักษณะพนักงานชั่วคราว และปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่นักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียน นักศึกษาจะได้รับการพัฒนาตนเอง ทางด้านความคิด การสังเกต การตัดสินใจ การวิเคราะห์และประเมินผลอย่างเป็นระบบ มีการจัดเตรียมและนำเสนอรายงานจากประสบการณ์การทำงานจริงของตนเองที่สะท้อน การผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีกับการปฏิบัติเข้าด้วยกัน รวมทั้งการค้นพบตนเองทางด้านงานอาชีพที่ชัดเจนขึ้น
ด้วยระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานภาคทฤษฎีเข้ากับภาคปฏิบัติได้อย่างลงตัวเช่นนี้ จึงส่งผลให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น กระบวนการสหกิจศึกษายังทำให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสถานประกอบการ ทำให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาหลักสูตรได้ตลอดเวลา ส่วนสถานประกอบการจะได้นักศึกษามาร่วมปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง
คุณสมบัตินักศึกษาสหกิจศึกษา
- สอบผ่านวิชาเอกบังคับ หรือรายวิชาเทียบเท่า ตามที่คณะวิชากำหนด
- มีผลการเรียนเฉลี่ย 2.00 ขึ้นไป
- มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยผิดระเบียบวินัยถึงขั้นพักการศึกษา
- มีความพร้อมที่จะไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการตามที่วิทยาลัยกำหนด
- มีวุฒิภาวะและความรับผิดชอบรวมถึงความสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ดี
หน้าที่ของนักศึกษาสหกิจศึกษาและข้อแนะนำในการปฏิบัติงาน
- ต้องลงทะเบียนรายวิชาสหกิจศึกษาจำนวนไม่ต่ำกว่า 6 หน่วยกิต และรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษา จำนวน 3 หน่วยกิต ก่อนภาคการศึกษาที่จะไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
- ต้องผ่านการปฐมนิเทศและรายวิชาเตรียมสหกิจศึกษาครบถ้วน ตามโครงการสหกิจศึกษา
และพัฒนาอาชีพกำหนด - ติดตามข่าวสารการจัดหางานและประสานงานกับอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษา
และพัฒนาอาชีพอย่างสม่ำเสมอ - หมั่นฝึกฝนและเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องรวมทั้งทักษะภาษาและคอมพิวเตอร์ก่อนไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
- ตั้งใจปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างาน (Job Supervisor) หรือที่ปรึกษางาน
(Job Advisor) อย่างเต็มกำลังความสามารถ - ปฏิบัติตนให้อยู่ในกฎระเบียบหรือข้อบังคับของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด หากมีปัญหาในการปฏิบัติงานต้องรีบรายงานอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพทราบทันที
- ติดต่อส่งเอกสารที่กำหนดและให้ข่าวสารการปฏิบัติงานของตนเองแก่อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ
- กรณีที่นักศึกษาไม่ได้รับการพิจารณาให้ผ่านงานจากสถานประกอบการ นักศึกษาจะต้องลงรายวิชาอื่น โดยได้รับการพิจารณาจากคณบดี
ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับจากการปฏิบัติงานสหกิจศึกษา
- ได้รับประสบการณ์วิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
- เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง รวมทั้งความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ
- เกิดทักษะในการสื่อสารในองค์กร
- สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้อง เนื่องจากได้รับรู้ความถนัดของตนเองมากขึ้น
- สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานและมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการสหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- พิจารณาคุณสมบัติของนักศึกษาให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ให้คำแนะนำปรึกษาการลงทะเบียนเรียนรายวิชาสหกิจศึกษาและกิจกรรมสหกิจศึกษาทุกๆ ด้าน
- ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกสถานประกอบการและตำแหน่งงานแก่นักศึกษา
- ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการกรอกใบสมัครงาน ประวัตินักศึกษา และการเขียนจดหมายสมัครงาน
- คัดเลือกนักศึกษาสหกิจศึกษาที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือกให้กับสถานประกอบการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
- ให้คำแนะนำปรึกษาเมื่อนักศึกษามีปัญหาระหว่างไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ
- นิเทศงานระหว่างที่นักศึกษาไปปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ
- ประเมินผลการเรียนสหกิจศึกษาเมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ