การเรียนรู้การดำน้ำลึกเบื้องต้น
ความงดงามของโลกใต้ท้องทะเลเปรียบเหมือนสิ่งเร้นลับที่ซ่อนเร้นและเย้ายวนให้ผู้คนที่สนใจหลงใหลอยากไปเที่ยวชม แม้จะยากลำบากด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องปรับแก้ข้อจำกัด เช่น การหายใจใต้น้ำ แต่มนุษย์ก็สามารถเรียนรู้ พัฒนาอุปกรณ์เพื่อใช้ในการหายใจใต้น้ำได้ ทำให้กิจกรรมการดำน้ำเพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันจำนวนผู้เจ็บป่วย เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากการดำน้ำก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จากสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำใต้ท้องทะเลมีธรรมชาติที่แตกต่างจากบนบก ที่มนุษย์คุ้นเคยกับการทำงานของอวัยวะตามปกติเมื่ออยู่บนบก ดังนั้นการทำงานของอวัยวะคนเราหลายอย่างผิดไปจากปกติเมื่ออยู่ใต้น้ำไม่ว่าจะเป็นการทรงตัว สภาพไร้น้ำหนัก การมองเห็นการเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งการหายใจ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ เมื่อเราอยู่บนบกแต่ก็กลายเป็นเรื่องยากเมื่อเราอยู่ใต้น้ำ
ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้เป็นอุปสรรคที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขณะอยู่ใต้น้ำหรือขณะดำน้ำ และที่สำคัญ คือเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาไม่ว่าเรื่องใดก็ตามนักดำน้ำยังต้องเสี่ยงกับการจมน้ำ ดังนั้นผู้ที่ต้องการปฏิบัติภารกิจใต้น้ำ การดำน้ำไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำอาชีพหรือนักดำน้ำสมัครเล่นก็ตามจะต้องทราบข้อควรปฏิบัติที่สำคัญก่อนการดำน้ำดังนี้คือ
ข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำลึก
เมื่อไปดำน้ำปัญหาหลายอย่างอาจเกิดขึ้นได้เช่น การเกิดโรคอันเนื่องจากแรงกดดัน (Decompression illness) อากาศหมด อากาศเหลือน้อย เหนื่อยเกินไปฯลฯ หลักง่ายๆ ต่อไปนี้ที่จะช่วยป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะดำน้ำ ดังนี้ 1. รักษาสภาพร่างกายและสมรรถภาพทางกายให้ดีอยู่เสมอ การออกกำลังกายนั้น มีประโยชน์สำหรับการดำน้ำเป็นอย่างมาก เพราะกิจกรรมดำน้ำนั้น บางครั้ง บางสถานการณ์ ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกายหนักถึงหนักมากก็มี การที่ได้ออกกำลังกาย ร่างกายฟิตจะทำให้ใช้อากาศน้อยลงและมีโอกาสเสี่ยงจากโรคอันเกิดจากแรงกดดันได้น้อยลงด้วย 2. พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนที่จะไปดำน้ำอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ทั้งสองอย่างนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้นักดำน้ำเกิดโรคเบนด์ หรือ Decompression Sickness ได้ นักดำน้ำมักเผชิญปัญหานี้บ่อยๆ เช่น การเดินทางไปดำน้ำอาจทำให้นอนพักผ่อนไม่พอ หรือการไปดำน้ำทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ภาวะขาดน้ำนี้อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และน้ำอัดลม ส่วนสตรีที่มีรอบเดือนก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จึงควรที่จะดื่มน้ำมากๆ เป็นระยะก่อนที่จะลงดำน้ำ
3. อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอและสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อุบัติเหตุจากการดำน้ำสามารถเกิดขึ้นได้จากอุปกรณ์ชำรุดเสียหายหรือใช้การได้ไม่ดี 4. ใช้ชุดป้องกันการสูญเสียความร้อนให้เพียงพอ หากเราหนาวเกินไปเวลาดำน้ำ ก็ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อการหมดสติใต้น้ำได้และเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบนด์ได้ 5. รักษาทักษะการดำน้ำให้สม่ำเสมอ นักดำน้ำที่ขาดหายจากการดำน้ำเป็นเวลานาน อาจจะลืมหรือไม่สามารถทำทักษะที่สำคัญและจำเป็นได้ ควรหมั่นไปดำน้ำ หรือหากไม่ได้ดำน้ำนานๆ ควรไปฝึกทบทวนการดำน้ำในสระก่อนหรือให้ Dive master ทำการ Check Dive ก่อนดำน้ำจริงเพื่อความถูกต้อง 6. ดำน้ำภายใต้ขีดจำกัดของตารางดำน้ำหรือคอมพิวเตอร์สำหรับการดำน้ำไม่ควรดำน้ำให้ติดดีคอมบ่อยๆ 7. การขึ้นสู่ผิวน้ำให้ช้าสำหรับทุกไดว์ 8. ทำ Safety Stop ท้ายการดำน้ำทุกครั้ง (ยกเว้นไดว์ที่ดำตื้นกว่า 5 เมตร) 9. อย่าดำน้ำหากรู้สึกว่าร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อม อย่าปล่อยให้ตัวเราถูกกดดันด้วยสถานการณ์รอบข้าง เช่นเพื่อนยุ เสียดายเงิน ฯลฯ หากเราไม่พร้อมหรือรู้สึกว่าไม่พร้อมก็ไม่ควรดำน้ำดีกว่า 10. หากเกิดอาการป่วยจากการดำน้ำ ให้ปฏิบัติการตามขั้นตอนที่ถูกต้องและไปพบแพทย์โดยด่วน อย่าประมาทว่าเกิดอาการเพียงนิดหน่อย เนื่องจากอาการของโรคของการดำน้ำนั้นอาจจะแย่ลงได้อย่างรวดเร็วมาก นักดำน้ำจำนวนมากก็ไม่ค่อยจะยอมรับหรือไม่ยอมรับการรักษา และไม่เชื่อว่าตัวเองป่วยจากการดำน้ำ ซึ่งอาจจะเข้าใจผิด
อุปกรณ์ที่ใช้ในการดำน้ำลึก
- 1. ถังอากาศ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุด มีหน้าที่เก็บอากาศไว้สำหรับให้เราใช้หายใจเมื่ออยู่ใต้น้ำ ถังอากาศมีหลายขนาดแต่ขนาดมาตรฐานคือ 11.5 ลิตร ถังหนึ่งจะดำได้นานประมาณ 40-50 นาทีในกรณีที่ดำไม่ลึกมาก
- 2. Regulator (อุปกรณ์สำหรับหายใจใต้น้ำ) จากหัวถังเราจะต้องเอาชุดปรับความดันมาต่อ ถังอากาศที่อัดมา ในถังมีแรงดันมากกว่าความดันปกติรอบตัวเราประมาณ 200 เท่า ถ้าเราเปิดใช้โดยตรงจากหัวถังแรงดันจะสูงมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นหากต้องการเปิดดูว่าในถังมีอากาศหรือไม่จะต้องหันทางออกของอากาศไปในทิศทางที่อื่นที่ไม่โดนหน้าหรือคนอื่น Regulator (อุปกรณ์สำหรับหายใจใต้น้ำ) เป็นอุปกรณ์ที่ต่อกับถังอากาศ (First Stage) และมีสายทั้งหมด 4 เส้น คือ
(1) Primary Regulator : ที่หายใจหลัก
(2) Octopus : ที่หายใจสำรอง
(3) Low Pressure : เอาไปต่อกับ BCD เพื่อนำอากาศเข้า เพื่อช่วยปรับการลอยตัว
(4) High Pressure : ต่อกับ Gauge ต่างๆ ที่ต้องมีคือ ตัววัดปริมาณอากาศในถัง นอกจาก
นั้น ยังสามารถต่อตัววัดอื่นๆ เช่น ระดับความลึก, เข็มทิศ เป็นต้น
- 3. BCD ถุงลมที่ช่วยให้เราลอยตัวใต้น้ำ BCD เราเติมลมเข้าไปประมาณหนึ่งเพื่อหักล้างกับน้ำหนักตัวของเรา ทำให้เราลอยอยู่ใต้น้ำ ในสภาวะเกือบไร้น้ำหนัก
- 4. ชุดดำน้ำ หรือ Wet Suit ชุดดำน้ำมีหลายแบบทั้งแบบเสื้อเปียก Wet Suit และเสื้อแห้ง Dry Suit เสื้อเปียกคือชุดปกติของนักดำน้ำที่คนใส่ลงน้ำแล้วเปียก ส่วนเสื้อแห้งคนใส่ดำน้ำขึ้นมาแล้วตัวไม่เปียก ซึ่งเป็นชุดที่ใช้กรณีที่ดำน้ำในเขตน้ำเย็นจัดเท่านั้น Wet Suit มีประโยชน์ในการช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกาย เพราะเมื่อเราดำลึกลงไปใต้ผิวน้ำ ก็จะยิ่งหนาวมากขึ้นๆ Wet Suit เป็นฉนวนชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นฟองน้ำนิ่มๆ แต่เหนียว หนาประมาณ 2-3 มม. มีหน้าที่ป้องกันความร้อนจากตัวเราไม่ให้ถ่ายเทไปสู่น้ำมากเกินไป ช่วยให้เราไม่หนาวสั่นเมื่ออยู่ใต้น้ำนานๆ Wet Suit มีทั้งแบบขายาวแขนยาว และแบบขาสั้นแขนสั้น ซึ่ง Wet Suit ยังสามารถช่วยให้ลอยตัว และยังช่วยปกป้องผิวหนังเราในกรณีที่เราไปสัมผัสกับพืชหรือสัตว์มีพิษโดยบังเอิญ
- 5. ตีนกบ หรือเรียกว่า Fin ใช้เพื่อช่วยให้เราดำน้ำได้คล่องตัวมากขึ้น ตีนกบบางชนิดเหมือนตีนกบเลยทีเดียว แต่รุ่นใหม่ๆ จะออกแบบเหมือนหางปลาวาฬ ประโยชน์ของมันคือทำให้มีแรงส่งในการว่ายน้ำได้เร็วขึ้น Fin มีมากมายหลายแบบให้เลือก แต่โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 แบบคือ Full Foot คือ ฟินแบบสวมเข้าไปทั้งเท้าเหมือนใส่รองเท้า อีกแบบคือแบบ Open Hill คือ ฟินแบบเปิดส้น ซึ่งจะต้องใส่รองเท้าก่อนที่จะใส่ฟิน ข้อดีคือถอดง่ายใส่ง่ายและกระชับแต่ราตาจะแพงกว่าแบบแรก
- 6. เข็มขัด ตะกั่ว ปกติแล้วคนเราจะไม่จมน้ำ เพราะปอดเป็นเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ในร่างกายเรา ยิ่งเราใส่ Wet Suit ยิ่งทำให้ตัวเราลอยน้ำ ถึงแม้จะมีถังอากาศแบกอยู่บนหลังก็จะไม่จมไปใต้น้ำ แต่จะจมปริ่มน้ำ ดังนั้นเราจึงต้องหาของหนักๆ มาถ่วง เพื่อให้จมไปใต้น้ำ ส่วนใหญ่นิยมใช้ตะกั่วเพราะมีราคาถูก
- 7. หน้ากากดำน้ำ หรือที่เรียกว่า Mask มีไว้เพื่อป้องกันน้ำทะเลเข้าตา และช่วยให้การมองเห็นใต้น้ำได้ดีขึ้น หน้ากากดำน้ำมีมากมายหลายแบบ บางแบบก็สามารถถอดเปลี่ยนใส่เลนส์สายตาได้ บางครั้งนักดำน้ำแบบ Scuba นิยมติด Snorkel ไว้ที่หน้ากากด้วยเพื่อที่จะใช้หายใจเมื่ออยู่บริเวณผิวน้ำ ทั้งนี้เพื่อประหยัดอากาศในถังที่เก็บไว้ใช้ใต้น้ำ
นอกจากอุปกรณ์เหล่านี้แล้วก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมาย เช่น BCD ไฟฉายใต้น้ำ มีดดำน้ำ มาตรวัดความลึก นาฬิกา ฯลฯ ซึ่งการใช้อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อไปฝึกดำน้ำลึกนั้น ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างและมีวิธีการใช้อย่างไร
การเรียนการดำน้ำลึกนั้นไม่ยากเลย สามารถไปสมัครเรียนดำน้ำกับโรงเรียนหรือร้านดำน้ำที่เปิดสอนหลักสูตร การดำน้ำที่มีอยู่หลายแห่ง ในเมืองไทย โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล อย่างพัทยา ตามหาดต่างๆ ของภูเก็ต เกาะพีพี หาดทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามชายหาดที่มีร้านดำน้ำที่เปิดสอน หลักสูตรดำน้ำเบื้องต้น (Open water Diving) นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปสมัครเรียนได้ทันที
สถาบันสอนดำน้ำมีอยู่มากมายหลายแห่งด้วยกัน แต่ละแห่งมีมาตรฐานการเรียนการสอน ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นควรเลือกเรียนกับสถานบันใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานที่การเดินทางไปมาสะดวก เมื่อจบหลักสูตรแล้วร้านดำน้ำต่าง ๆ จะออกบัตรรับรองจากสถาบันดำน้ำสากล เพื่อใช้แสดงเวลาต้องการเช่าหรือใช้อุปกรณ์ดำน้ำได้ทั่วโลก
ควรตรวจสุขภาพก่อนการดำน้ำ
ผู้ที่จะดำน้ำต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพราะโรคที่เกิดจากใต้น้ำมีอย่างมากมายการตรวจสุขภาพ จึงเป็นการป้องกันและเตือนตนเองถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะดำน้ำ การตรวจสุขภาพของผู้ที่จะดำน้ำ ต่างจากการตรวจสุขภาพทั่วไป ทั้งนี้เพราะภาวะใต้น้ำจะต้องผจญกับความกดดันและอันตรายของอากาศที่ใช้ในการหายใจ เช่น การเกิดออกซิเจนเป็นพิษ (Oxygen Toxicity) การมึนเมาของไนโตรเจน (Nitrogen Narcosis) การเจ็บป่วยขณะดำลงและดำขึ้นเป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามดำน้ำบ้างข้อ เช่น หญิงมีครรภ์ โรคประจำตัวบางชนิด ฯลฯ การป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขเสมอ ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ต้องการดำน้ำควรได้รับการตรวจสุขภาพและปฏิบัติโดยเคร่งครัดควรมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจก่อนการดำน้ำเสมอ
ปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรให้ความสนใจ
สภาพภูมิอากาศ ลักษณะของน้ำ ทิศทางของกระแสน้ำ ภาวะอุณหภูมิต่ำ(hypothermia) ความชำนาญในการว่ายน้ำ การดำน้ำ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่สำคัญผู้ที่จะดำน้ำควรจะมีความรู้และทักษะในหัวข้อดังกล่าวเพื่อช่วยให้การดำน้ำเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สิ่งที่ต้องพึงระวังขณะดำน้ำตามแนวปะการังก็คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแตะต้องปะการัง แม้การแตะเพียงแผ่วเบาก็อาจทำให้ปะการังแตกหักได้ และต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าปะการังชิ้นนั้นจะเติบโตจนมีขนาดเท่าเดิม เมื่อได้รับความงดงามจากการชมธรรมชาติแล้วก็อย่าลืมช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิมเพื่อให้ความสวยงามของท้องทะเลยังอยู่คู่โลกต่อไป